สารชำระล้าง 4 กลุ่มในแชมพู ที่คุณยังไม่เคยรู้
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผมหรือแชมพูในปัจจุบันมีส่วนประกอบมากมายหลายชนิด เช่น สารกันเสีย สารเพิ่มฟอง สารปรับสภาพผม ฯลฯ ทว่าส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ สารชำระล้าง หรือ สารลดแรงตึงผิว (surfactant) โดยโครงสร้างโมเลกุลของสารดังกล่าวสามารถดึงดูดสิ่งสกปรกที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ และช่วยทำให้สิ่งสกปรกถูกน้ำชะล้างได้ง่าย สารชำระล้างที่ใช้ในแชมพู แบ่งตามประจุที่ละลายน้ำออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. สารชำระล้างประจุลบ (anionic surfactant) มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดสูง ทำให้เกิดฟองเยอะ ทั้งยังมีราคาถูก แต่ก็อาจชำระล้างไขมันออกจากเส้นผมและหนังศีรษะมากเกินไป ส่งผลให้ผมเสียสภาพหลังสระ รวมทั้งอาจเกิดการระคายเคืองสำหรับผู้ใช้ที่แพ้แชมพูสระผม แชมพูทั่วไปนิยมใช้สารชำระล้างกลุ่มนี้เป็นส่วนประกอบหลัก โดยผสมสารชำระล้างไร้ประจุเพื่อลดอาการระคายเคือง ตัวอย่างสารชำระล้างประจุลบ เช่น Sodium lauryl sulfate, Sodium lauryl ether sulfate, Ammonium lauryl sulfate เป็นต้น 2. สารชำระล้างประจุบวก (cationic surfactant) การให้ฟองและประสิทธิภาพการทำความสะอาดไม่มากเท่าสารประจุลบ แต่ช่วยฟื้นฟูสภาพผมและผิวหนังได้ดีมาก จึงมักใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์ปรับสภาพผม (hair conditioner) ตัวอย่างสารชำระล้างประจุบวก เช่น Cetrimonium chloride, Behentrimonium chloride 3. สารชำระล้างประจุผสม (amphoteric surfactant) มีทั้งประจุบวกและลบรวมกัน จึงทำความสะอาดผมได้ดีและให้ฟองเยอะ ขณะเดียวกันก็ช่วยถนอมสภาพผมหลังสระ ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองหนังศีรษะ เนื่องจากมีความเป็นด่างน้อย แต่เพราะมีราคาแพง จึงไม่นิยมใช้กันแพร่หลาย ด้วยความที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่ำ จึงมักเป็นส่วนประกอบหลักในแชมพูสำหรับเด็กและผู้ใช้ที่แพ้แชมพูสระผมทั่วไป ตัวอย่างสารชำระล้างประจุผสม เช่น Amino propionates 4. สารชำระล้างไร้ประจุ (nonionic surfactant) มีความสามารถในการทำความสะอาดสูงและดูแลสภาพผมหลังสระดี ทว่าทำให้เกิดฟองน้อยและมีราคาแพง นิยมใช้เป็นสารทำความสะอาดเสริมในแชมพูทั่วไป เพื่อช่วยลดอาการระคายเคืองที่เป็นผลจากสารประจุลบซึ่งเป็นส่วนประกอบหลัก ตัวอย่างสารชำระล้างไร้ประจุ เช่น Cocomide monoethanolamine เมื่อรู้จักสารชำระล้างครบทุกกลุ่มแล้ว ทีนี้เรามาดูกันนะคะว่าแชมพูหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่มีสารชำระล้างกลุ่มไหนเหมาะกับผู้ใช้แบบไหนบ้าง * คนผมธรรมดา ถ้าเป็นไปได้ ควรสระผมด้วยแชมพูที่มีสารชำระล้างไร้ประจุเป็นส่วนประกอบหลัก หรือแชมพูชนิดปลอดซัลเฟต (sulfate free) แต่ถ้าหาไม่ได้ ก็ให้ใช้แชมพูทั่ว ไป ตามด้วยผลิตภัณฑ์ปรับสภาพผมทุกครั้ง * คนผมมัน ควรสระผมเป็นประจำด้วยแชมพูทั่วไปซึ่งเป็นสูตรประจุลบ และล้างให้สะอาดด้วยน้ำเย็น * คนผมแห้ง หลีกเลี่ยงการสระผมทุกวัน เมื่อสระผมควรใช้แชมพูสูตรประจุผสม และควรบำรุงผมด้วยผลิตภัณฑ์ปรับสภาพผมซึ่งมีสารชำระล้างประจุบวก โดยเฉพาะชนิด deep conditioner * คนผิวแพ้ง่าย ควรใช้แชมพูสูตรประจุผสมหรือแชมพูสำหรับเด็ก ขอสนับสนุนให้ผู้อ่านทุกคนเลือกใช้แชมพูให้เหมาะสมกับสภาพผมและหนังศีรษะ เพื่อให้สามารถดูแลเส้นผมให้สะอาดและสุขภาพดีค่ะ ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เครื่องสำอางในชีวิตประจำวัน, กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544, หน้า 154-160.